ChargeRod App กำลังจะเปิดให้ดาวน์โหลดเร็วๆนี้

จะดีแค่ไหน…ถ้าคนไทยเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถไฟฟ้าได้เอง

   กระแสของ “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Electric Vehicle : EV” กำลังมาแรงแบบยื้อไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ไม่ใช่เพียงในประเทศไทย แต่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ตามกระแส “Global Warming” หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “โลกร้อน” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ภาคขนส่ง” เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับต้นๆ

แต่ด้วยเทคโนโลยีรถยนต์ EV ในปัจจุบันยังมีราคาสูง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้การที่จะเป็นเจ้าของรถ EV ออกใหม่สักคัน อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทยส่วนใหญ่

ปัจจุบัน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนหลักที่ใช้ในการดัดแปลงรถ EV ให้สามารถเปลี่ยนรถยนต์เก่าให้เป็นรถ EV โดยมุ่งลดต้นทุนในการดัดแปลงรถยนต์ไม่เกิน 200,000 บาท ไม่รวมแบตเตอรี่ รวมถึงพัฒนาต้นแบบภาคสนามชุดอุปกรณ์ดัดแปลง (Kit) พร้อมแบบทางวิศวกรรม (Blueprint) ระหว่างปี 2560 -2563

ทีมงาน กฟผ. ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยต้นแบบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยของ NECTEC ที่ร่วมในโครงการวิจัยดัดแปลงรถเก่าให้เป็นรถ EV กับ กฟผ. พร้อมเปิดให้ชมรถยนต์ไฟฟ้าที่เขาดัดแปลงขึ้นมาจากรถยนต์ส่วนตัวชนิดเก๋ง 4 ประตู ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้ ที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง และใช้งานมาประมาณ 5 ปีแล้ว โดยลงทุนส่วนตัวเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาต่อไป

รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คืออะไร

นายสุทัศน์ กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คือ รถยนต์ที่ถูกดัดแปลงจากรถเก่า ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ด้วยการยกเครื่องยนต์เก่าออก แล้วใส่ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปแทนที่

ปัจจุบันโครงการวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่ กฟผ. ร่วมกับ NECTEC มีความพยายามที่จะคงฟังก์ชันการใช้งานของตัวรถเดิมไว้ เช่น ยังสามารถใช้เครื่องปรับอากาศ วิทยุ และระบบไฟต่างๆ ได้ดังเดิม จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันรถ EV ใหม่ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทขึ้นไป

“แบตเตอรี่” หัวใจสำคัญของรถพลังงานไฟฟ้า

นายสุทัศน์ เล่าว่า รถ EV ดัดแปลงของตน ใช้แบตเตอรี่ประเภทตะกั่ว-กรด เพราะมีราคาไม่แพง และหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่ได้แนะนำว่า รถ EV ในอนาคต ควรใช้แบตเตอรี่ประเภท “ลิเธียมไอออน” เพราะสามารถชาร์จได้เร็วกว่า ใช้งานได้นานกว่า และมีความหนาแน่นของพลังงานที่สูงกว่าแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด จึงทำให้มีระยะเวลาการใช้งานที่นานขึ้นและมีน้ำหนักเบาลง แต่ก็มีราคาสูงขึ้นตามคุณภาพ

ในอนาคตคาดว่าแบตเตอรี่ลิเธียม จะมีนวัตกรรมที่พัฒนาให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น และมีราคาถูกลง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา แบตเตอรี่ลิเธียมถือว่าเป็นความหวังของนวัตกรรมต่างๆ ยิ่งแบตเตอรี่ราคาถูกลง เก็บพลังงานได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเข้าถึงพลังงานทางเลือกได้มากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไม่ต่ำกว่า 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง น่าจะอยู่ในราคาไม่เกิน 2 แสนบาท

ระยะเวลาในการชาร์จไฟ ขึ้นอยู่กับประเภทและความจุของแบตเตอรี่

รถ EV สามารถชาร์จไฟได้ 2 แบบ คือ แบบ Normal Charge และแบบ Quick Charge

แบบที่1 : การชาร์จไฟแบบปกติ Normal Charge สามารถชาร์จไฟในบ้านพักอยู่ เป็นการชาร์จไฟด้วยแรงดันต่ำ ซึ่งสามารถใช้ไฟจากปลั๊กไฟทั่วไปได้ ใช้เวลาในการชาร์จไฟประมาณ 6-8 ชั่วโมง

แบบที่ 2 : การชาร์จในรูปแบบเร็วหรือ Quick Charge เป็นการชาร์จไฟผ่านตู้ชาร์จไฟ ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าแรงดันสูง ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการชาร์จไฟไม่เกิน 30 นาที จะได้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของความจุ ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ มักจะเป็นการชาร์จไฟตามสถานีชาร์จไฟสาธารณะ

ทั้งนี้ การชาร์จไฟแบบ Quick Charge ขึ้นอยู่กับประเภทของแบตเตอรี่ ว่าสามารถรองรับกระแสไฟที่รับเข้าเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆได้หรือไม่ โดยปกติจะต้องเป็นแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมถึงจะใช้ Quick Charge ได้

อายุการใช้งานของรถ EV ประมาณ 10 ปี

อายุการใช้งานของรถ EV จะขึ้นอยู่แบตเตอรี่โดยตรง ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ตามประสบการณ์ของคุณสุทัศน์ที่ใช้งานมา 5 ปี ตัวมอเตอร์ อินเวอเตอร์ ยังไม่มีปัญหาในการใช้งาน เพราะรถยนต์ EV เครื่องจะไม่ร้อน ทำให้อุปกรณ์ต่างๆเสื่อมสภาพช้าลงมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีอายุการใช้งานได้นานเท่าๆกับอุปกรณ์อื่น ซึ่งสำหรับรถ EV ในปัจจุบัน ประเมินว่าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ดังนั้นจึงควรพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เช่นเดียวกัน

ประโยชน์ของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการใช้รถยนต์ EV แต่ไม่ต้องการที่จะซื้อรถใหม่ คล้ายๆกับปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน มาเป็นแก๊ส เพื่อลดการใช้น้ำมัน ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดัดแปลง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกดัดแปลงรถยนต์ที่มีอยู่ให้เป็นรถ EV ได้ โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่เสื่อมสภาพ มาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า

การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ

การดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้านั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตรถ EV ใหม่ในปัจจุบัน ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ทุกคนคงคุ้นเคยกับบริษัทเทสล่ามอเตอร์ส (Tesla Motors, Inc.) ที่มี นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นกรรมการผู้จัดการ และมี นายเจบี สเตราเบล (JB Straubel) เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ซึ่งนายเจบี ได้เริ่มดัดแปลงรถยนต์เป็นรถไฟฟ้าเองตั้งแต่อายุ 19 ปี มีความใฝ่ฝันที่จะพัฒนารถพลังงานไฟฟ้า จนในที่สุดได้นำประสบการณ์มาพัฒนาเทคโนโลยีผลิตรถพลังงานไฟฟ้าของเทสล่าในปัจจุบัน

ความท้าทายของการวิจัยและพัฒนาเพื่อดัดแปลงรถเก่า เป็นรถ EV ในประเทศไทย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมใช้รถเกียร์อัตโนมัติมากกว่าเกียร์ธรรมดา เนื่องจากความสะดวกสบาย และเหมาะสมกับสภาพการจราจร ซึ่งการดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ จะมีอัตราการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองกว่าเกียร์ธรรมดา ดังนั้นการที่จะพัฒนารถ EV ที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ จึงจำเป็นต้องพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีขนาดเล็กลงแต่กักเก็บไฟฟ้าได้มากขึ้น เพื่อที่สามารถนำแบตเตอรี่ไปติดตั้งในรถ EV ได้จำนวนที่มากขึ้น และสามารถขับเคลื่อนได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง

ในแง่ของการพัฒนาการดัดแปลงรถยนต์ให้เป็นรถ EV นายสุทัศน์คิดว่าประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกมาก ต้องส่งเสริมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของไทยให้มีการพัฒนาภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพัฒนาไปถึงจุดที่เราสามารถผลิตเทคโนโลยีได้เองในประเทศแล้ว เราก็จะมีเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้าของเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การที่จะทำให้รถ EV ดัดแปลงได้รับความนิยมนั้นก็ขึ้นอยู่กับความคุ้มค่า ถ้าการดัดแปลงรถเป็นรถ EV มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างจากการซื้อรถใหม่มากนัก ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อรถใหม่มากกว่า เพราะได้ของใหม่ในราคาที่ไม่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องวิจัยและพัฒนาให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถผลิตขึ้นในประเทศได้

นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่มีความสนใจในรถพลังงานไฟฟ้า ที่อีกไม่นานเกินรอ ประเทศไทยก็จะมีเทคโนโลยีรถ EV ที่ราคาจับต้องได้ แต่อย่างไรก็ตาม นายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ ฝากด้วยว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องไม่ลืมบริบทด้านอื่นๆ นอกจากผลิตและดัดแปลงรถ EV เช่น กฎหมาย นโยบายประเทศ การตลาด และเศรษฐกิจ ให้มีส่วนสนับสนุนให้วงการรถ EV ไปได้ไกลในประเทศไทยด้วย

ที่มา: https://www.egat.co.th/